รายงาน : รายละเอียดกิจกรรม รหัสรายงาน : A01.2
    ครั้งที่ปรับปรุง : -
    วันที่เริ่มใช้ : 01-04-2550
โครงการอบรมครูภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาของจังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 3 เรื่อง การพัฒนาทักษะภาษาเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ
            โครงการอบรมครูภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาของจังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 3
เรื่อง การพัฒนาทักษะภาษาเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
8 – 19 ตุลาคม 2550
หลักการและเหตุผล
สภาพปัจจุบันของสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมข่าวสาร หรือยุคที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสังคม คนที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดีจะมีโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งงานที่ดี สังคมให้ความสำคัญกับการรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก จึงมีการปรับปรุงหลักสูตร ให้สอดคล้องกับความต้องการทางสังคม ดังที่จะเห็นได้ในหลักสูตร ปีพุทธศักราช 2539 (ฉบับปรับปรุง 2533) โดยกำหนดให้วิชาภาษาอังกฤษอยู่ในกลุ่มวิชาประสบการณ์พิเศษ นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่ 1 ในระดับประถมศึกษาเป็นต้นไป และเลือกเรียนภาษาต่างประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมในทุกระดับชั้น และกำหนดไว้ในหลักสูตรให้เรียนภาษาอังกฤษ 12 ปี และพัฒนาหลักสูตรในแต่ละระดับชั้นให้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับสภาพของผู้เรียนและสภาพความต้องการของท้องถิ่น
การปรับปรุงหลักสูตรในปีพุทธศักราช 2544 เป็นการปรับปรุงหลักสูตรที่ยึดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นสำคัญ( standard based curriculum) ยึดการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามมาตรฐานหลักสูตร ความจำเป็นและความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ต้องสอดคล้อง และดำเนินไปในแนวทางเดียวกัน ภาษาอังกฤษจัดอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศโดยกำหนดให้เรียนทุกช่วงชั้นต่อเนื่อง 12 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ให้สามารถใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารและประกอบการงานอาชีพ พึ่งตนเองได้ (Learner Independence) และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) (กรมวิชาการ, 2546)
ด้วยความสำคัญของภาษาอังกฤษดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้มีการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรภาษาอังกฤษในทุกระดับมาอย่างต่อเนื่อง และจากการประเมินผลความสำเร็จของแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) พบว่าการพัฒนาประสบผลสำเร็จในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงการพัฒนาคุณภาพ ความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษของบัณฑิตยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับการปรับปรุง ยังขาดทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ไม่สามารถสื่อสารข้อความให้เข้าใจโดยใช้ภาษาอังกฤษได้ ขาดครู-อาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถทางภาษาและวิธีการสอนเพื่อการสื่อสาร วิทยากร เชียงกูล (2549) ได้ประเมินและรายงานสภาวะการศึกษาในปี 2547-2548ไว้ว่า ปัญหาการขาดครู มีมากในระดับโรงเรียนขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะบางสาขาวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังและมากขึ้นตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำปี พ.ศ. 2540 และนักเรียนในระดับการศึกษาพื้นฐานมีคะแนนในวิชาเหล่านี้เฉลี่ยต่ำกว่าเดิม การศึกษาขั้นพื้นฐานยังเน้นการท่องจำ ขาดสื่อการสอน และนักเรียนส่วนใหญ่ยังคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้น้อย
การศึกษาวิจัยของ ปิยะนุช พุฒแก้ว (2547) ซึ่งศึกษาครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี จำนวน 834 คน พบว่า มีเพียง 115 คน คิดเป็นร้อยละ 13.78 เท่านั้น ที่จบการศึกษาในวิชาเอกภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างจำนวนร้อยละ 80.45 ต้องการรับการอบรมเพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในด้านเนื้อหาวิชา และรวมถึงเทคนิควิธีสอนภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ในการศึกษาของสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ และคณะ (2543 , หน้า 102) พบว่า การที่ผู้เรียนจะสามารถเรียนภาษาอังกฤษได้ดีเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความรู้และความสามารถของผู้สอน ทั้งในด้านเนื้อหาที่สอน ทักษะทางภาษา และเทคนิควิธีสอน ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาบริบทการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาของจังหวัดฉะเชิงเทราพบว่าร้อยละ 89.04 ไม่ได้จบการศึกษาในสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ครูต้องสอนหลายรายวิชามีคาบสอนต่อสัปดาห์ประมาณ 21-25 คาบ และครูทุกคนมีภาระงานบริหาร งานบริการและงานธุรการอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 10-15 คาบ ทำให้บทบาทการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษลดน้อยลง ทั้งนี้ ไม่รวมเวลาในการเตรียมการสอนและการพัฒนาสื่อการสอน ตรวจงานและออกข้อสอบซึ่งทำให้ครูขาดความมั่นใจในการสอน
ในการสอบถามสมรรถนะของครูสอนภาษาอังกฤษว่าควรมีลักษณะอย่างไร ครูในจังหวัดฉะเชิงเทรามีความคิดเห็นว่า ครูควรมีความรู้ในตัวภาษา มีทักษะในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารตามความต้องการที่จะสื่อได้อย่างคล่องแคล่วและเหมาะสมตามสถานการณ์ มีความสามารถในการวิเคราะห์เนื้อหาในบทเรียนได้ตรงตามสถานการณ์ และเลือกประเด็นสำคัญเพื่อวางแผนการสอนได้โดยมีความรู้ความเข้าใจ ในการวางแผนการสอนโดยกิจกรรมเป็นตัวนำ(task based-learning activities) มีความรู้ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและวัฒนธรรม และการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือการสื่อสารเพื่อบรรลุสิ่งที่ต้องการ และการใช้ภาษาตามสถานการณ์ในทางสังคม
บริบทของการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาของจังหวัดฉะเชิงเทราประสบปัญหาไม่ต่างจากเขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ผลการศึกษางานวิจัยที่กล่าวแล้วข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ครูเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพทุกด้านของการศึกษา เพราะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน นอกจากครูที่มีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนการสอนแล้ว ความสามารถในการสอนของครูภาษาอังกฤษก็เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนภาษาอังกฤษ ของนักเรียนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพครู ทั้งนี้เพราะ ครูเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการรับผิดชอบจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายในการพัฒนาคน ครูจึงต้องได้รับการพัฒนาให้ถึงพร้อมด้วยความรู้พื้นฐานในวิทยาการ ศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ มีความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพครู และมีจิตใจที่ดี
ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวศูนย์ภาษาจึงจัดให้มีการอบรมทักษะภาษาอังกฤษแบบ intensive ให้กับครูภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาเพื่อให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการพูดสื่อสารในห้องเรียนกับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ครูได้นำหน่วยการเรียนรู้ (unit of learning) ซึ่งจัดทำขึ้นตามแก่นสาระ/ประเด็นหลัก 14 เรื่อง ตามข้อกำหนดของหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ มาศึกษาวิเคราะห์บริบททางวัฒนธรรม (cultural contexts) หน้าที่ของภาษาทางสังคม (social functions) และการใช้ภาษา (linguistic features) เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในเนื้อเรื่องที่สอน
2. เพื่อให้ครูได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเจ้าของภาษา ในประเด็นของความเหมือนและความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องในหน่วยการเรียนรู้
3. เพื่อให้ครูได้วิเคราะห์ตัวบท เพื่อศึกษา สัญญะ ประเภทของข้อความ หน้าที่ของภาษา การใช้คำศัพท์ โครงสร้างทางไวยากรณ์ ตามหัวข้อ วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร สถานภาพของผู้ส่งสารและผู้รับสาร
4. เพื่อให้ครูได้มีโอกาสฝึกทักษะการใช้ภาษาเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษา
วิธีดำเนินการอบรม
1. ทบทวนความรู้เดิมของครูเกี่ยวกับขั้นตอนในการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับสาระ มาตรฐานการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ตามข้อกำหนดของหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ปีพุทธศักราช 2544
2. ฟังบรรยายกรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์บริบททางวัฒนธรรม หน้าที่ของภาษาทางสังคมและการใช้ภาษา
3. ปฏิบัติการวิเคราะห์บริบททางวัฒนธรรม หน้าที่ของภาษาทางสังคมและการใช้ภาษา ซึ่งสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องในหน่วยการเรียนรู้
4. ผู้เข้าอบรมนำเสนอผลงานการวิเคราะห์บริบททางวัฒนธรรม หน้าที่ของภาษาทางสังคมและการใช้ภาษา ซึ่งสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องในหน่วยการเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มและวิทยากร และนำไปปรับปรุงต่อไป
5. ฟังบรรยายกรอบแนวคิดและทฤษฎีในการวิเคราะห์ตัวบท เพื่อศึกษา สัญญะ ประเภทของข้อความ หน้าที่ของภาษา การใช้คำศัพท์ โครงสร้างทางไวยากรณ์ ตามหัวข้อ วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร สถานภาพของผู้ส่งสารและผู้รับสาร
6. ปฏิบัติการวิเคราะห์ตัวบท เพื่อทำความเข้าใจ สัญญะ ประเภทของข้อความ หน้าที่ของภาษา การใช้คำศัพท์ โครงสร้างทางไวยากรณ์ ตามหัวข้อ วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร สถานภาพของผู้ส่งสารและผู้รับสาร
7. ผู้เข้าอบรมนำเสนอผลงานการวิเคราะห์ตัวบท และความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญะ ประเภทของข้อความ หน้าที่ของภาษา การใช้คำศัพท์ โครงสร้างทางไวยากรณ์ ตามหัวข้อ วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร สถานภาพของผู้ส่งสารและผู้รับสาร รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มและวิทยากร และนำไปปรับปรุงต่อไป
8. ชมวีดิทัศน์ และการแสดงบทบาทสมมุติจากวิทยากร ในเรื่องของการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ฟังบรรยายเรื่องระบบเสียงในภาษาอังกฤษ เสียงที่เป็นปัญหา พร้อมตัวอย่างและวิธีการออกเสียงที่ถูกต้องโดยเจ้าของภาษา
9. ฝึกทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษาโดยตรง และรับฟังคำแนะนำเพื่อการปรับปรุงต่อไป
ระยะเวลาและสถานที่
วันที่ฝึกอบรม ระหว่างวันที่ 8 – 19 ตุลาคม 2550
สถานที่ ห้องเขียวเสวย สัมมนาคารบางปะกงปาร์ค มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
งบประมาณ
โครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน งป. 0100-3-010-01-50 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ค่าตอบแทนวิทยากร 30,000 บาท
2. ค่าวัสดุ/อุปกรณ์ 24,668 บาท
3. ค่าอาหารกลางวัน (50 X 10 วัน X 30 คน) 15,000 บาท
4. ค่าอาหารว่างวันละ 2 มื้อ (50 X 10 วัน X 30 คน) 15,000 บาท
รวม 84,668 บาท
เป้าหมาย
ครูสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาในจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 20คน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ครูมีความรู้ความเข้าใจในบริบททางวัฒนธรรม (cultural contexts) หน้าที่ของภาษาทางสังคม (social functions) และการใช้ภาษา (linguistic features) ของเนื้อเรื่องที่สอน
2. ครูมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความเหมือนและความแตกต่าง ระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา ซึ่งสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องในหน่วยการเรียนรู้
3. ครูได้เรียนรู้วิธีการ และขั้นตอน ในการวิเคราะห์ตัวบท เพื่อศึกษา สัญญะ ประเภทของข้อความ หน้าที่ของภาษา การใช้คำศัพท์ โครงสร้างทางไวยากรณ์ ตามหัวข้อ วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร สถานภาพของผู้ส่งสารและผู้รับสาร
4. ครูได้มีโอกาสฝึกทักษะการใช้ภาษาเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษาโดยตรง
ผู้รับผิดชอบโครงการวิจัย
ศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
ผู้ดำเนินงาน นางนพมาศ หงษาชาติ

ผู้ประเมินโครงการ
ผศ.ดร.นพรัตน์ สรวยสุวรรณ
ผศ.ดร.ผ่องศรี มาสขาว

ประเภทกิจกรรม : กิจกรรมวิชาการ

วัน-เดือน-ปี : 08-10-2550

หน่วยงาน : ศูนย์ภาษา

งบประมาณ : -NA- บาท

จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม : 30 คน

รายงานผลงานกิจกรรม : สรุปประเมินโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาทักษะภาษาเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ระหว่างวันที่ 8 – 19 ตุลาคม 2550 ณ ห้องเขียวเสวย สัมมนาคารบางปะกงปาร์ค มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ************************************


การกล่าวเปิดโครงการโดย ผศ.ดร. ผ่องศรี มาสขาว

รูปแบบวิธีการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ


การนำเสนอสือการสอนที่ออกแบบเอง

นำเสนอการสื่อสาร


การคิดและออกแบบวิธีการสอน

นำเสนอรูปแบบการสอนของแต่ละคน


สร้างความคุ้นเคย

การออกแบบสื่อการสอนภาษาอังกฤษ



Rajabhat Rajanagarindra University