รายงาน : รายละเอียดกิจกรรม รหัสรายงาน : A01.2
    ครั้งที่ปรับปรุง : -
    วันที่เริ่มใช้ : 01-04-2550
อบรมครูภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาของจังหวัดฉะเชิงเทรา เรื่องภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
             โครงการอบรมครูภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาของจังหวัดฉะเชิงเทรา เรื่อง ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (General English for Communication)
ศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์
21-25 เมษายน 2551
หลักการและเหตุผล
วิชาภาษาอังกฤษถูกกำหนดให้เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่พุทธศักราช 2438 อีกทั้งยังมีการปรับปรุงและพัฒนาไปตามกระแสความต้องการของสังคม และตามพัฒนาการของวิทยาการการเรียนรู้ภาษามาโดยตลอด ความสำคัญของภาษาอังกฤษและสภาพของสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมข่าวสารหรือที่เรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งทำให้โลกแคบเข้า ผู้คนมีการติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสังคม ด้วยความสำคัญของการรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างมากเช่นที่กล่าว จึงได้มีการปรับปรุงหลักสูตรภาษาอังกฤษให้มีความสอดคล้องกับความต้องการทางสังคม ดังที่พบได้ในหลักสูตร ปีพุทธศักราช 2539 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2533) ที่กำหนดให้วิชาภาษาอังกฤษอยู่ในกลุ่มวิชาประสบการณ์พิเศษ นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่ 1 ในระดับประถมศึกษาเป็นต้นไป และให้เลือกเรียนภาษาต่างประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมในทุกระดับชั้น และกำหนดไว้ในหลักสูตรให้เรียนภาษาอังกฤษ 12 ปี และพัฒนาหลักสูตรในแต่ละระดับชั้นให้ต่อเนื่องสอดคล้องกับสภาพผู้เรียนและสภาพความต้องการของท้องถิ่น
การปรับปรุงหลักสูตรในปีพุทธศักราช 2544 เป็นการปรับปรุงหลักสูตรที่ยึดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นสำคัญ (standard based curriculum) ยึดการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามมาตรฐานหลักสูตร ความจำเป็นและความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ต้องสอดคล้องและดำเนินไปในแนวทางเดียวกัน ภาษาอังกฤษจัดอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โดยกำหนดให้เรียนทุกช่วงชั้นต่อเนื่อง 12 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ให้สามารถใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารและประกอบการงานอาชีพ พึ่งตนเองได้ (Learner Independence) และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) (กรมวิชาการ, 2546)
ด้วยความสำคัญและความจำเป็นของการรู้ภาษาอังกฤษ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้มีการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรภาษาอังกฤษในทุกระดับมาอย่างต่อเนื่อง และจากการประเมินผลความสำเร็จของแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) พบว่า การพัฒนาประสบผลสำเร็จในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงการพัฒนาคุณภาพ วิทยากร เชียงกูล (2549) ได้ประเมินและรายงานสภาวะการศึกษา 2547-2548 ไว้ว่า ปัญหาการขาดครูมีมากในโรงเรียนระดับขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะบางสาขาวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังและมากขึ้นตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปีพุทธศักราช 2540
ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีสาเหตุที่เกี่ยวข้องหลายประการ สุมิตรา อังวัฒนกุล (2537, หน้า 14-17) ได้สรุปไว้ 2 ประเด็นหลัก คือ การเรียนภาษาอังกฤษควรเป็นไปตามความถนัด ความสนใจ แรงจูงใจ และการเห็นประโยชน์ในการเรียนนั้นของแต่ละบุคคล ไม่ใช่การถูกบังคับให้เรียน และประการที่สอง การเรียนภาษาให้บรรลุผลตามความมุ่งหมายนั้น ต้องอาศัยความพร้อมทั้งทางด้านครู ตำราเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน สิ่งแวดล้อมในการเรียนภาษา และมีการวางรากฐานที่ถูกต้อง การบังคับให้เด็กทั้งประเทศเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ในระดับชั้นประถมศึกษา โดยที่ขาดกำลังครูทั้งในเรื่องของปริมาณและคุณภาพ นับเป็นการลงทุนที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง และข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนอีกประการหนึ่งคือ ครูภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาร้อยละ 90 มิได้จบวิชาเอกภาษาอังกฤษโดยตรง (มติชนรายวัน, 16 กุมภาพันธ์ 2549, หน้า 26) และในการศึกษาของสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ และคณะ (2543, หน้า 102) พบว่า การที่ผู้เรียนจะสามารถเรียนภาษาอังกฤษได้ดีเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความรู้และความสามารถของผู้สอน ทั้งในด้านเนื้อหาที่สอน ทักษะทางภาษา และเทคนิควิธีสอน นอกจากนี้ยังพบว่า ครูภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ก็มิได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก จึงมีข้อจำกัดด้านความรู้ทางภาษาและเทคนิควิธีสอน ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาความสามารถทางภาษาของผู้เรียนโดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ปิยะนุช พุฒแก้ว (2547) ซึ่งศึกษาครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี จำนวน 834 คน พบว่า มีเพียง 115 คน คิดเป็นร้อยละ 13.78 เท่านั้น ที่จบการศึกษาในวิชาเอกภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 80.45 ต้องการรับการอบรมเพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในด้านเนื้อหาวิชา และเทคนิควิธีสอนภาษาอังกฤษ
ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาบริบทการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาของจังหวัดฉะเชิงเทราพบว่าร้อยละ 89.04 มิได้จบการศึกษาในสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ครูต้องสอนหลายรายวิชามีคาบสอนต่อสัปดาห์ประมาณ 21-25 คาบ และครูทุกคนมีภาระงานบริหาร งานบริการและงานธุรการอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 10-15 คาบ ทำให้บทบาทการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษลดน้อยลง ทั้งนี้ ไม่รวมเวลาในการเตรียมการสอนและการพัฒนาสื่อการสอน ตรวจงานและออกข้อสอบซึ่งทำให้ครูขาดความมั่นใจในการสอน
การพัฒนาครูจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เนื่องจากครูเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพทุกด้านของการศึกษา และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน กระบวนการผลิตครูเน้นภาคทฤษฎีมากกว่าภาคปฏิบัติ และเมื่อออกไปประกอบอาชีพครูในสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็ยังขาดโอกาสในการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
วิธีการพัฒนาครูที่มีประสิทธิผลนั้นจะต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นการพัฒนาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน และเชื่อมโยงไปสู่โรงเรียนในเครือข่าย ครูเข้าร่วมกิจกรรมเสมือนเป็นผู้ช่วยซึ่งกันและกัน เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูเป็นผู้เลือกจุดหมายและกิจกรรมที่จะพัฒนาด้วยตนเอง ใช้วิธีการสาธิต การนิเทศ การให้ข้อมูลย้อนกลับ การฝึกอบรมที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง การให้ความช่วยเหลือสนับสนุนตลอดกระบวนการ หรือทุกครั้งที่ได้รับการขอร้อง
ศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ตระหนักถึงความต้องการและความจำเป็นในการพัฒนาความสามารถของครู ในเรื่องของเทคนิควิธีในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เพื่อให้คณาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสสังเกต และเรียนรู้วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชั้นเรียนอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในลำดับต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ครูได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 2. เพื่อให้ครูได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเจ้าของภาษา ในประเด็นของความเหมือนและความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร
3. เพื่อให้ครูได้วิเคราะห์ภาษาตามสถานการณ์ ประเภทของข้อความ หน้าที่ของภาษา การใช้คำศัพท์ โครงสร้างทางไวยากรณ์ ตามหัวข้อ วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร สถานภาพของผู้ส่งสารและผู้รับสาร 4. เพื่อให้ครูได้มีโอกาสฝึกทักษะการใช้ภาษาเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษา
วิธีการดำเนินอบรม
1. ผู้เข้าอบรมเรียนรู้และฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ในสถานการณ์และรูปแบบที่ไม่ค่อยได้ใช้มาก่อน
2. ผู้เข้าอบรมนำเสนอเรื่องราวโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร
3. ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้และทำความความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารที่มิใช่ภาษา (non-verbal) ที่จะสามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนของตนได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักเรียนโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น
4. ฝึกปฏิบัติการและนำเสนอวิธีการใช้เครื่องมือในการสื่อสารที่มิใช่ภาษา
5. ทดสอบความรู้ในตัวภาษา และทักษะในการสื่อสารของผู้เข้าอบรม
ระยะเวลาและสถานที่
วันที่ฝึกอบรม วันที่ 21-25 เมษายน 2551
สถานที่ ห้องเขียวไข่กา ชั้น 2 สัมมนาคารบางปะกงปาร์ค มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
งบประมาณ
โครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน ลป. 1705-3-010-01 (กศ) โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. ค่าตอบแทนวิทยากร (7 ช.ม.X 300 บาทX 5 วัน) 10,500 บาท
2. ค่าวัสดุ/อุปกรณ์ 10,000 บาท
3. ค่าอาหารว่างวันละ 2 มื้อ(50 X5 วันX 20 คน) 5,000 บาท
4. ค่าอาหารกลางวัน (50 X5 วันX 20 คน) 5,000 บาท
รวม 30,500 บาท
**หมายเหตุ ถัวเฉลี่ยตามที่จ่ายจริง **
เป้าหมาย
ครูสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาในจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 11 คน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. มีข้อมูลความสามารถทางการใช้ภาษาของผู้เข้ารับการอบรม
2. ผู้เข้าอบรมได้มีโอกาสพัฒนาทักษะในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในสถานการณ์และรูปแบบที่ไม่ค่อยได้ใช้มาก่อน
3. ผู้เข้าอบรมเกิดความมั่นใจพร้อมทั้งมีศักยภาพในการสื่อสารมากขึ้น
4. ผู้เข้าอบรมมีเครื่องมือการสื่อสารที่จะสามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนของตนได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักเรียนโดยตรง โดยที่นักเรียนจะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น
5. สร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษให้เกิดขึ้นกับนักเรียน
ผู้รับผิดชอบโครงการวิจัย
ศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์
ผู้ดำเนินงาน นางนพมาศ หงษาชาติ
ผู้ประเมินโครงการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพรัตน์ สรวยสุวรรณ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผ่องศรี มาสขาว

ประเภทกิจกรรม : กิจกรรมวิชาการ

วัน-เดือน-ปี : 21-04-2551

หน่วยงาน : ศูนย์ภาษา

งบประมาณ : -NA- บาท

จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม : 11 คน

รายงานผลงานกิจกรรม : การอบรมปฏิบัติการมีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร มีประโยชน์มาก เป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้กับนักเรียนได้จริง ได้รับความรู้ใหม่ๆ และสิ่งที่เคยสอนผิดถูกแก้ไขให้ถูกต้อง มีความมั่นใจในการสื่อสารมากขึ้น การใช้ภาษาในโอกาส และสถานการณ์ที่แตกต่างกัน



Rajabhat Rajanagarindra University