รายงาน : รายละเอียดกิจกรรม รหัสรายงาน : A01.2
    ครั้งที่ปรับปรุง : -
    วันที่เริ่มใช้ : 01-04-2550
โครงการอบรมภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาของจังหวัดฉะเชิงเทรา เรื่อง การวิเคราะห์หลักสูตรและการจัดทำหน่วยการเรียนรู้
             โครงการอบรมครูภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาของจังหวัดฉะเชิงเทรา
เรื่อง การวิเคราะห์หลักสูตรและการจัดทำหน่วยการเรียนรู้
ศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์
22-23 สิงหาคม 2550
หลักการและเหตุผล
การพัฒนาครูมีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เนื่องจากครูเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพทุกด้านของการศึกษา และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน กระบวนการผลิตครูเน้นภาคทฤษฎีมากกว่าภาคปฏิบัติ และเมื่อออกไปประกอบอาชีพครูในสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็ยังขาดโอกาสในการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
วิธีการพัฒนาครูที่มีประสิทธิผลนั้นจะต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นการพัฒนาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน และเชื่อมโยงไปสู่โรงเรียนในเครือข่าย ครูเข้าร่วมกิจกรรมเสมือนเป็นผู้ช่วยซึ่งกันและกัน เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูเป็นผู้เลือกจุดหมายและกิจกรรมที่จะพัฒนาด้วยตนเอง ใช้วิธีการสาธิต การนิเทศ การให้ข้อมูลย้อนกลับ การฝึกอบรมที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง การให้ความช่วยเหลือสนับสนุนตลอดกระบวนการ หรือทุกครั้งที่ได้รับการขอร้อง
วิชาภาษาอังกฤษถูกกำหนดให้เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่พุทธศักราช 2438 หลักสูตรภาษาอังกฤษได้รับการพัฒนาและปรับปรุงไปตามกระแสความต้องการของสังคม และตามพัฒนาการของวิทยาการการเรียนรู้ภาษามาโดยตลอด ความสำคัญของภาษาอังกฤษและสภาพของสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมข่าวสารหรือที่เรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งทำให้โลกแคบเข้า ผู้คนมีการติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสังคม ด้วยการให้ความสำคัญกับการรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก จึงได้มีการปรับปรุงหลักสูตรภาษาอังกฤษให้มีความสอดคล้องกับความต้องการทางสังคม ดังที่พบได้ในหลักสูตร ปีพุทธศักราช 2539 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2533) ที่กำหนดให้วิชาภาษาอังกฤษอยู่ในกลุ่มวิชาประสบการณ์พิเศษ นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่ 1 ในระดับประถมศึกษาเป็นต้นไป และให้เลือกเรียนภาษาต่างประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมในทุกระดับชั้น และกำหนดไว้ในหลักสูตรให้เรียนภาษาอังกฤษ 12 ปี และพัฒนาหลักสูตรในแต่ละระดับชั้นให้ต่อเนื่องสอดคล้องกับสภาพผู้เรียนและสภาพความต้องการของท้องถิ่น การปรับปรุงหลักสูตรในปีพุทธศักราช 2544 เป็นการปรับปรุงหลักสูตรที่ยึดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นสำคัญ (standard based curriculum) ยึดการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ตามมาตรฐานหลักสูตร ความจำเป็นและความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ต้องสอดคล้องและดำเนินไปในแนวทางเดียวกัน ภาษาอังกฤษจัดอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โดยกำหนดให้เรียนทุกช่วงชั้นต่อเนื่อง 12 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ให้สามารถใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารและประกอบการงานอาชีพ พึ่งตนเองได้ (Learner Independence) และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) (กรมวิชาการ, 2546) ความสำคัญของภาษาอังกฤษดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้มีการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรภาษาอังกฤษในทุกระดับมาอย่างต่อเนื่อง และจากการประเมินผลความสำเร็จของแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) พบว่า การพัฒนาประสบผลสำเร็จในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงการพัฒนาคุณภาพ วิทยากร เชียงกูล (2549) ได้ประเมินและรายงานสภาวะการศึกษา 2547-2548 ไว้ว่า ปัญหาการขาดครูมีมากในระดับโรงเรียนขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะบางสาขาวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังและมากขึ้นตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปีพุทธศักราช 2540 การศึกษาวิจัยของ ปิยะนุช พุฒแก้ว (2547) ซึ่งศึกษาครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี จำนวน 834 คน กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 80.45 ต้องการรับการอบรมเพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในด้านเนื้อหาวิชา และเทคนิควิธีสอนภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ในการศึกษาของสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ และคณะ (2543, หน้า 102) พบว่า การที่ผู้เรียนจะสามารถเรียนภาษาอังกฤษได้ดีเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความรู้และความสามารถของผู้สอน ทั้งในด้านเนื้อหาที่สอน ทักษะทางภาษา และเทคนิควิธีสอน
ผลการศึกษางานวิจัยที่กล่าวแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า ครูเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพทุกด้านของการศึกษา เพราะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน นอกจากครูจะมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนการสอนแล้ว ความสามารถของครูในการสอนภาษาอังกฤษก็เป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง ซี่งจะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพครู โดยเริ่มจากการศึกษาคุณสมบัติของครูผู้สอนในระดับประถมศึกษา และความต้องการที่จะพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะ ครูเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการรับผิดชอบจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายในการพัฒนาคน ครูจึงต้องได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาให้ถึงพร้อมด้วยความรู้ในศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ มีความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพครู และมีจิตใจที่ดี ดังนั้นการจัดประชุมสัมมนา เรื่อง การวิเคราะห์หลักสูตรและการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ ใน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ หลักสูตรพุทธศักราช 2544 จึงเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในเรื่องหลักสูตร จัดหน่วยการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสภาพจริงของโรงเรียน นักเรียน ชุมชนและสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร และจะช่วยในการวางแผนการดำเนินงานในขั้นตอนการทำความ เข้าใจกับเนื้อหา การจัดกิจกรรมการสอนและการทดลองสอนจริงต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ครูได้ศึกษาวิเคราะห์สาระการเรียนรู้ ขอบข่ายองค์ความรู้และเป้าหมาย มาตรฐานการเรียนรู้รวมถึงมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
2. เพื่อให้ครูสามารถกำหนดองค์ความรู้ให้ครอบคลุมตามสาระและมาตรฐานการเรียนรู้
3. เพื่อให้ครูได้กำหนดเนื้อหาภาษาในหน่วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพื้นฐานประสบการณ์ของผู้เรียนและท้องถิ่น เพื่อนำไปจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ต่อไป
วิธีการดำเนินอบรม
1. ศึกษาความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์การใช้ภาษาของครูที่เข้าอบรมโดยใช้แบบทดสอบทักษะการฟัง-พูด อ่านและเขียน
2. ฟังบรรยายกรอบแนวคิด หลักการ และขอบข่ายในการจัดทำหลักสูตร กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
3. ปฏิบัติการวิเคราะห์สาระการเรียนรู้ ขอบข่ายองค์ความรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ รวมถึงมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อยและวิเคราะห์ตามช่วงชั้น
4. จัดทำหน่วยการเรียนรู้ (unit of learning) ตามแก่นสาระ/ประเด็นหลัก 14 เรื่อง คือ
โดยผู้เข้าอบรมแต่ละระดับชั้นสามารถเลือกแก่นสาระ/ประเด็นหลัก และอาจจะตั้งชื่อหน่วยย่อย ๆ ตามแก่นสาระ ให้สอดคล้องกับพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์ ความสนใจของผู้เรียน รวมทั้งชุมชนและท้องถิ่น และกำหนดหน้าที่ของภาษา (functions) คำศัพท์ และรูปแบบไวยากรณ์เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะภาษาการสื่อสารในแต่ละช่วงชั้นปี
5. ผู้เข้าอบรมนำเสนอหน่วยการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มและวิทยากร ร่วมวิเคราะห์ลำดับของเนื้อหา ความเหมาะสม ความต่อเนื่องของเนื้อหาสาระในแต่ละช่วงชั้น และนำไปปรับปรุงต่อไป
ระยะเวลาและสถานที่
วันที่ฝึกอบรม วันที่ 22-23 สิงหาคม 2550
สถานที่ ห้องเขียวไข่กา สัมมนาคารบางปะกงปาร์คมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
งบประมาณ
โครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน งป. 0100-3-010-01-50 ดังรายละเอียดดังนี้ 1. ค่าตอบแทนวิทยากร 7,200 บาท
2. ค่าวัสดุ/อุปกรณ์ 4,600 บาท
3. ค่าอาหารว่าง 4 มื้อ 6,000 บาท
รวม 17,800 บาท
เป้าหมาย
ครูสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาในจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 30 คน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. มีข้อมูลความสามารถทางการใช้ภาษาของผู้เข้ารับการอบรม
2. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องแนวทาง หลักการ สาระและมาตรฐานในการจัดทำหลักสูตรกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศและการวิเคราะห์หลักสูตร
3. ได้หน่วยการเรียนรู้ ประเด็นสาระ เนื้อหาภาษา ในการจัดลำดับขั้นตอนการพัฒนาทักษะภาษาให้กับนักเรียนตามช่วงชั้น และเกิดความต่อเนื่อง เชื่อมโยงในพัฒนาการเรียนทักษะให้กับผู้เรียน

ผู้รับผิดชอบโครงการวิจัย ศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์
ผู้ดำเนินงาน นางนพมาศ หงษาชาติ

ประเภทกิจกรรม : กิจกรรมวิชาการ

วัน-เดือน-ปี : 22-08-2550

หน่วยงาน : ศูนย์ภาษา

งบประมาณ : 17800 บาท

จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม : 28 คน

รายงานผลงานกิจกรรม : ครูสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาสามารถวิเคราะห็หลักสูตรและจัดทำหน่วยการเรียนรู้สำหรับการสอนในแต่ละชั้นเรียน


การฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์หลักสูตรและการจัดทำหน่วยการเรียนรู้

การฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์หลักสูตรและการจัดทำหน่วยการเรียนรู้


การฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์หลักสูตรและการจัดทำหน่วยการเรียนรู้

การฝึกปฏิบัติการวิเคราะห์หลักสูตรและการจัดทำหน่วยการเรียนรู้


การบรรยายถึงหลักของการวิเคราะห์หลักสูตรและวิธีการจัดทำหน่วยการเรียนรู้

การบรรยายถึงหลักของการวิเคราะห์หลักสูตรและวิธีการจัดทำหน่วยการเรียนรู้


ฟังคำบรรยาย

ฟังคำบรรยาย



Rajabhat Rajanagarindra University